LNG คืออะไร? รู้จักพลังงานแห่งอนาคต ลดมลพิษ ลดต้นทุน ตอบโจทย์ภาคขนส่งไทย
ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม หรือแนวโน้มการใช้พลังงานใหม่ ๆ ภาคการขนส่งโลจิสติกส์ของไทยก็ไม่พ้นที่จะต้องปรับตัวเช่นกัน และหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่ได้รับความสนใจและคาดว่าจะเป็น “พลังงานแห่งอนาคต” สำหรับภาคการขนส่งโลจิสติกส์ก็คือ LNG หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “รถบรรทุกที่ใช้ก๊าซ LNG เป็นเชื้อเพลิง” มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บทความนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ LNG ว่าคืออะไร ตั้งแต่พื้นฐาน ข้อดี-ข้อเสีย จนถึงประโยชน์ในการใช้งาน และความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการขนส่งของไทยต่อไปในอนาคต
LNG คือ ก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas) ก๊าซธรรมชาติที่ถูกเปลี่ยนสถานะจากก๊าซมาเป็นของเหลว ด้วยอุณหภูมิติดลบประมาณ 160-162 °C ทำให้ปริมาณลดลงถึง 600 เท่า เพื่อความสะดวกในการขนส่งและเก็บรักษาได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันเชื้อเพลิง LNG เป็นพลังงานที่ถูกนำมาใช้งานทั่วโลก ทั้งในประเทศที่ผลิตก๊าซธรรมชาติและประเทศที่ต้องนำเข้า อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหลายประเทศ ส่วนในประเทศไทยก๊าซ LNG เริ่มเป็นที่สนใจและมีการใช้งานมากขึ้น ทั้งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ในภาคอุตสาหกรรม และใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ (NGV) ซึ่งส่วนใหญ่ไทยมีการนำเข้า LNG จากต่างประเทศ อาทิ เมียนมา กาตาร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เป็นต้น เนื่องจาก LNG ที่ผลิตเองได้จากอ่าวไทยยังไม่เพียงพอ
คุณสมบัติของ LNG
- เป็นเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูง มีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ไม่เกิดเขม่า
- เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์น้อยกว่า
- ด้วยคุณสมบัติที่เบากว่าอากาศจึงลอยขึ้นและแพร่กระจายในอากาศเมื่อเกิดการรั่วไหล
- ช่วยลดต้นทุนมากกว่าการใช้เชื้อเพลิงปิโตรเลียมอื่น ๆ เช่น น้ำมัน น้ำมันเตา
การผลิตและเก็บรักษา
กระบวนการผลิต LNG ขั้นแรกเริ่มจากการสกัดก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซใต้ดินหรือใต้ทะเล มาแยกสิ่งปลอมปนและองค์ประกอบต่างๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ปรอท และกำมะถันออก โดยเหลือเพียงก๊าซมีเทน โดยกระบวนการนี้ต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและการควบคุมอย่างเข้มงวด LNG จึงเป็นเชื้อเพลิงที่ไร้กลิ่น ไร้สี ปราศจากสารกัดกร่อน ไม่เป็นพิษ สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
จากนั้นก๊าซธรรมชาติที่สกัดและแยกสิ่งปลอมปนออกแล้ว จะถูกทำให้เย็นจนกลายเป็นของเหลว ด้วยการลดอุณหภูมิลงเหลือ -160 องศาเซลเซียส และ เก็บรักษาในถังเก็บที่มีฉนวนความร้อนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ถังทำให้ก๊าซกลับไปเป็นสถานะเดิม และเมื่อต้องการนำไปใช้งาน LNG ที่อยู่ในสถานะของเหลวจะถูกแปรสภาพให้กลับเป็นก๊าซ
การขนส่งทางเรือ
สำหรับการขนส่ง LNG ส่วนใหญ่จะเป็นการขนส่งทางเรือ โดยใช้เรือขนส่งพิเศษที่เรียกว่า LNG carriers ซึ่งออกแบบมาเพื่อขนส่งของเหลวที่มีอุณหภูมิต่ำมากและมีถังเก็บที่มีฉนวนกันความร้อนสูงเพื่อรักษาความเย็นของ LNG เมื่อเรือขนส่ง LNG มาถึงท่าเรือที่กำหนด LNG จะถูกถ่ายไปยังถังเก็บที่สถานีรับก๊าซ จากนั้นจะถูกส่งต่อไปยังโรงงานผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และปั๊มก๊าซ LNG
ประโยชน์ของ LNG พลังงานทางเลือกแห่งอนาคต
- LNG มีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จาก LNG ทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น การผลิตเหล็ก การผลิตปุ๋ย และยังถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ เช่น รถบรรทุกในภาคการขนส่ง ที่ใช้ใเชื้อเพลิงดีเซล หรือติดแก๊ส CNG อยู่แล้ว สามารถเปลี่ยนมาใช้เป็น LNG ได้ ซึ่งตอบโจทย์มากกว่า ทั้งในแง่ของค่าใช้จ่ายที่ลดลง เนื่องจากราคา LNG ถูกกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น อีกทั้งการเติมแต่ละรอบใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 10-15 นาที และยังสามารถวิ่งได้ระยะทางไกลถึง 1,000-1,400 กม. จึงช่วยประหยัดเวลาได้มากขึ้น เป็นต้น
- ข้อดีของ LNG คือเป็น “พลังงานสะอาด” มีประสิทธิภาพสูง ทำให้เครื่องยนต์เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล หรือก๊าซ CNG ได้ และปลอดภัยกว่า เพราะหากเกิดการรั่วไหล LNG ซึ่งเบากว่าอากาศจะระเหยเป็นไอและลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว โดยไม่เหลือการตกค้างใด ๆ ในน้ำหรือดิน ส่วนการติดไฟหรือโอกาสในการลุกไหม้จะเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีที่ LNG อยู่ในสถานะก๊าซ มีระดับความเข้มข้นในอากาศ 5-15% สภาพแวดล้อมปิด และมีประกายไฟเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียง เป็นต้น
อนาคตของ LNG กับภาคการขนส่งไทย
แนวโน้มการเติบโตของการใช้ LNG ในภาคการขนส่งของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น
1.) การเพิ่มขึ้นของการใช้งาน
- รายงานของกระทรวงพลังงาน ระบุว่าในปี 2564 ไทยนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นถึง 27% เมื่อเทียบกับปี 2563
- ปริมาณการใช้ LNG ในภาคการขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำเข้า LNG เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง มากกว่า 3 ล้านตันในปี 2564
2.) การสนับสนุนจากภาครัฐ
- นโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนเพื่อลดการปล่อยมลพิษ โดยเฉพาะ LNG เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
- การสนับสนุนทางภาษีและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน LNG ช่วยให้การใช้งานในภาคการขนส่งเพิ่มขึ้น
- ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมโยงด้าน LNG ของภูมิภาค ด้วยศักยภาพและความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน
3.) แนวโน้มในอนาคต
- คาดการณ์ว่าในปี 2573 การใช้ LNG ในภาคการขนส่งของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 50% เนื่องจากมีการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ
- บริษัทขนส่งหลายแห่งมีแผนที่จะเปลี่ยนรถบรรทุกที่ใช้ดีเซลเป็นรถบรรทุกที่ใช้ LNG เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานและเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การใช้รถบรรทุก LNG ช่วยลดต้นทุน 20-30%
สำหรับปริมาณการใช้ LNG ในรถบรรทุก พบว่า ในปี 2565 มีรถบรรทุกที่ใช้ LNG มากกว่า 500 คัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,000 คันภายในปี 2570 นอกจากนั้นยัง ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้มากถึง 20-30% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซล แม้ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอาจค่อนข้างสูงในระยะแรก แต่โดยรวมถือว่า “คุ้มค่าในระยะยาว” เพราะ LNG ราคาถูกกว่า ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของผู้ประกอบการขนส่งได้มากขึ้น
ตัวอย่างการใช้ในภาคการขนส่ง
- บริษัทขนส่งสินค้า : หลายบริษัทในไทยเริ่มทดลองใช้รถบรรทุก LNG สำหรับการขนส่งสินค้า ทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและการประหยัดค่าใช้จ่าย
- การขนส่งภาคเกษตร : การขนส่งสินค้าเกษตรจากพื้นที่ห่างไกลเข้าสู่เมืองใหญ่ก็เริ่มหันมาใช้รถบรรทุก LNG เพื่อลดต้นทุนและรักษาคุณภาพสินค้ามากขึ้น
สรุป : การเติบโตของการใช้ LNG ในภาคการขนส่งของประเทศไทย สะท้อนถึงความพยายามในการปรับตัวสู่ การใช้พลังงานที่ที่ยังยืนและมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น โดยแนวโน้มดังกล่าวยังคงเป็นที่น่าจับตามองในอนาคต และเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาภาคการขนส่งของไทยให้ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แต่อย่างไรก็ดี จำนวนสถานีเติมเชื้อเพลิง LNG และการพัฒนาเทคโนโลยี LNG เช่น ระบบเติมเชื้อเพลิงที่รวดเร็วและปลอดภัย การวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการเก็บรักษา LNG ให้มีความเสถียรและมีประสิทธิภาพสูง คือปัจจัยที่ทำให้การใช้งาน LNG ในรถบรรทุก สะดวกและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งหันมาใช้มากขึ้น และทำให้ LNG กลายเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย (อ้างอิงข้อมูล : กระทรวงพลังงาน, International Energy Agency (IEA), BP Statistical Review of World Energy)